การประชุมนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล (International Women’s Day – IWD) เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกภาคส่วนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมทั้งส่งเสริมโครงการครอบครัวคุณภาพของเอเปค (APEC Smart Families)
บทสนทนาจากการประชุมมุ่งตอบโจทย์ประเด็นความต้อง การด้านสุขภาพสตรีที่เร่งด่วน ที่พบเห็นทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนในวงกว้าง อาทิ อัตราการผ่าคลอดที่น่ากังวลของประเทศไทย (34.8% ของการคลอดทั้งหมด) อัตราการเสียชีวิตของมารดาที่สูงในประเทศกัมพูชา (218 รายต่อการเกิดมีชีพ 100,000 ราย) และอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่สูงในประเทศลาว (82 รายต่อเด็กหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน) เป็นต้น โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการลงทุนในสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิง กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคม
ข้อมูลเชิงประจักษ์จากสถาบันชั้นนำระดับโลก อาทิ World Economic Forum, McKinsey Health Institute[1] และ World Bank[2] ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ของโลกได้ถึงหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงได้ถึงร้อยละ 20 หากผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น บริษัท อินซูลาร์ ไลฟ์ (Insular Life Assurance Company, Ltd. – inLife) ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ขยายสวัสดิการสุขภาพให้ครอบคลุมการตั้งครรภ์และคลอดบุตรอย่างครบวงจร ส่งผลให้มีพนักงานหญิงสูงถึง 64% และอัตราการลาออกลดลง เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมจากการลงทุนในสุขภาพสตรีได้อย่างชัดเจน
นายคุง คาเรล เคราท์บ๊อช (Koen C. Kruijtbosch) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดการเสวนา โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบในวงกว้างของสุขภาพสตรีต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมชี้ให้เห็นว่าความท้าทายด้านสุขภาพสตรีที่เร่งด่วนของประเทศไทย อาทิ อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่สูงขึ้น และอัตราการผ่าคลอดที่สูง ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งต่อสุขภาพสตรี ตลาดแรงงาน ระบบสาธารณสุข และการพัฒนาประเทศในระยะยาว “ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพส่วนบุคคล แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และอนาคตของประเทศ หากเราต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เราต้องนำนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ มาปรับใช้ ทั้งด้านการแพทย์ เทคโนโลยี นโยบาย การให้บริการ และการศึกษา เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและสตรี สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการที่จำเป็นในการตัดสินใจด้านสุขภาพได้อย่างรอบคอบ”
ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า “สุขภาพสตรีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางสังคม และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน การรับรองการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องสุขภาพส่วนบุคคล แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ส่งเสริมตลาดแรงงานแบบยืดหยุ่นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” ดร. ณหทัย ยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในด้านความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการครอบครัวคุณภาพของเอเปค ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมในการจัดการกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ พร้อมทั้งส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว “การลงทุนในสุขภาพสตรีคือการลงทุนในอนาคตของครอบครัว ชุมชน และประเทศของเราอย่างแท้จริง” ดร. ณหทัย กล่าว


