โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เรื่อง นวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ภายใต้แนวคิด “SAVE YOUR HEART SAVE YOUR LIFE : เพราะหัวใจมีความหมายเท่ากับชีวิต” โดยมี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวเปิดงาน
รศ. นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ปี 2566 ทั่วโลก มีผู้ป่วยกว่า 20.5 ล้านคนต่อปี ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในประเทศไทยพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 2.5 แสนราย และเสียชีวิตมากถึง 4 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 คน และหนึ่งในโรคที่ถือเป็นภัยเงียแบของโรคหัวใจที่สำคัญ คือ โรคลิ้นหัวใจ (Valvular Heart Disease) ทั้งนี้ เพื่อสืบสานพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เป็นที่พึ่งด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วยในทุกระดับชั้นให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเท่าเทียม งานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยให้บริการดูแลรักษาโรคหัวใจและทรวงอกด้วยการผ่าตัดอย่างครบวงจร เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรม “SAVE YOUR HEART SAVE YOUR LIFE : เพราะหัวใจมีความหมายเท่ากับชีวิต” เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจครบทุกมิติ และการดูแลเชิงป้องกัน ตลอดจนการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคลิ้นหัวใจซึ่งเป็นภัยเงียบให้กับประชาชนในประเทศไทย
นพ.สุขสันต์ กนกศิลป์ หัวหน้างานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือตีบ ซึ่งมี 3 ระยะ คือ น้อย ปานกลาง รุนแรง ซึ่งระยะที่ต้องได้รับการผ่าตัด คือระยะปานกลางและระยะรุนแรง โดยการผ่าตัดลิ้นหัวใจแบ่งออกเป็นลิ้นหัวใจที่ทำจากโลหะหรือเซรามิค กับลิ้นหัวใจที่ทำจากเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจของหมูและวัว ซึ่งเลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ของผู้ป่วย มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน กล่าวคือ ลิ้นโลหะหรือลิ้นเซรามิค สามารถใช้งานได้นานแต่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือดคือยา warfarin ไปตลอดชีวิต ซึ่งยาละลายลิ่มเลือดจะมีอันตรายจากการใช้ยาได้ เช่น เลือดออกในสมองหรือทางเดินอาหาร ส่วนลิ้นเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจของหมูและวัว กินยาละลายลิ่มเลือดเพียง 3 เดือนหลังจากนั้นเปลี่ยนไปกินยาแอสไพรินแทน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดเลือดออกในสมองหรือทางเดินอาหาร กล่าวโดยสรุปคือมีข้อดี-ข้อเสียต่างกันตามความจำเป็นของคนไข้ สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ ใช้ระยะเวลาผ่าตัดประมาณ 3-4 ชั่วโมง พักฟื้นในห้อง ICU 2-3 คืน เมื่อปลอดภัยแล้วก็จะย้ายมานอนที่หอผู้ป่วย รวมแล้วอยู่โรงพยาบาลประมาณ 7 วัน และเมื่อกลับบ้านสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังออกกำลังกายหนักหรือยกของหนักมากไม่ได้ ต้องรอให้กระดูกหน้าอกติดกันดีก่อน โดยแผลภายนอกใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนแผลข้างในใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และควรมีคนช่วยดูแลจนกว่าจะแข็งแรงดี
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผ่าตัดและการรักษาโรคหัวใจดีขึ้นกว่าเดิมมาก ช่วยลดอันตรายต่างๆ ที่เป็นความเสี่ยงลงได้ แม้จะยังไม่สามารถลดลงได้จนถึง 0% ก็ตาม โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็ก ที่เรียกว่า Minimally Invasive Surgery (MIS) ซึ่งช่วยลดขนาดบาดแผลผ่าตัดให้เล็กลงมาเหลือประมาณ 10 เซนติเมตร ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว แผลสวยงาม โดยค่าใช้จ่ายในบางรายการไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาช่วยในการผ่าตัดแบบแผลเล็ก แต่ด้วยเทคโนโลยียังมีราคาแพง หากราคาลดลงมาในระดับที่เหมาะสมน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
สำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดลิ้นหัวใจ ขึ้นกับสิทธิการรักษาพื้นฐานของผู้ป่วย เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ประกันสังคม สิทธิข้าราชการรัฐวิสาหกิจ หรือประกันสุขภาพ (เอกชน) โดยหลักแล้วค่ารักษาจะประกอบด้วยหลายส่วน เช่น ค่ายา ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียมหรือลิ้นหัวใจ เป็นต้น โดยที่ค่าลิ้นหัวใจเทียมจะมีหลายแบบ หลายราคา แล้วแต่ความจำเป็นของผู้ป่วยตามคำแนะนำของแพทย์ อ้างอิงตามหลักเกณฑ์การรักษา เช่น ลิ้นหัวใจเทียมแบบมาตรฐาน อาจมีส่วนเกินประมาณเป็นหลักพันถึงหมื่นกว่าบาท และถ้าเป็นลิ้นหัวใจแบบที่พัฒนาออกมาใหม่ อาจมีส่วนเกินประมาณสองหมื่นถึงแสนกว่าบาท เมื่อรวมกับค่ารักษาโดยรวมแล้วอาจมีส่วนเกินได้ตั้งแต่หลักหมื่น ถึงหลักแสนบาท ตามชนิดของลิ้นหัวใจเทียมที่ใช้ ระยะเวลานอนโรงพยาบาล และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เป็นต้น
นพ.วิโรจน์ เมืองศิลปศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและเลือด แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยถึง การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (TAVI) ซึ่งมีความแตกต่างจากการผ่าตัดเปิดอก ทั้งในแง่กระบวนการและผลลัพธ์ โดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) เป็นการผ่าตัดแบบไม่ต้องเปิดหน้าอก แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด นับเป็นนวัตกรรมการเปลี่ยนลิ้นหัวใจในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ที่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุที่มักมีโรคประจำตัว ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตขณะผ่าตัด โดยมีข้อดี คือ ลดความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่มีรอยแผลผ่าตัดใหญ่ที่หน้าอก นอนพักที่โรงพยาบาลไม่นาน และผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว
พร้อมกันนี้ นพ.ชยวัน รุ่งกาญจนกุล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้กล่าวเสริมถึง การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดที่ถูกต้อง ทิ้งท้ายด้วยความรู้ด้านการปฏิบัติตัวก่อน–หลังการผ่าตัด และการรับประทานยาของผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเภสัชกรหญิงธนาภรณ์ มณีฉาย และ เภสัชกรหญิงศิรดา เจียมตน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และพบกับ คุณพิชัย บัวบาง และ คุณกรรณิการ์ รงค์ทอง แขกรับเชิญพิเศษที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ โดยทั้งสองท่านได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทั้งยังจัดให้มีบูทกิจกรรมอีกมากมาย อาทิ บูทให้คำปรึกษาการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยศัลยแพทย์ และพยาบาลวิชาชีพ พร้อมบริการนัดหมาย บูทให้คำปรึกษาเรื่องการรับประทานยาด้านโรคหัวใจ โดยเภสัชกร บูทแนะนำโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ โดย นักกำหนดอาหาร และบูทแนะนำการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยก่อน-หลังผ่าตัด โดยนักกายภาพบำบัด เฉพาะด้านหัวใจ ปอด และหลอดเลือดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
