บพข. ลงนามความร่วมมือ Expert Forum : Probiotics ยกระดับงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมอาหารสุขภาพโพรไบโอติกระดับประเทศ

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพจัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) จัดตั้ง Research consortium: Probiotics เพื่อผลักดันงานวิจัยโพรไบโอติกไทยสู่อุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันธุรกิจโพรไบโอติกของประเทศระหว่างหน่วยงานวิจัยด้านโพรไบโอติก ในงานประชุม Expert Forum : Probiotics ยกระดับงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ ในรูปแบบออนไซต์ ณ ห้อง Ballroom 2 ชั้น 8  โรงแรม โซ แบงคอก และระบบออนไลน์ผ่าน Zoom Meeting

โดยความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมการสนับสนุนงบประมาณวิจัย การสร้างเทคโนโลยีการผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก การขยายขนาดการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม การเตรียมความพร้อม และปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการขึ้นทะเบียนโพรไบโอติก การวิจัยตลาดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในตลาดโลก

หน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย

1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

2. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

3. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

4. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

5. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

6. มหาวิทยาลัยมหิดล

การจัดตั้ง Research Consortium : Probiotics เพื่อผลักดันงานวิจัยพรไบโอติกไทยสู่อุตสาหกรรมเพื่อความสามารถในการแข่งขันธุรกิจโพรไบโอติกของประเทศ นำโดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข., ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว., ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ผศ.ดร.ศิวลาภ สุขไพบูลย์วัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้แทน รศ.ดร.รัมภา บุญสินสุข ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ศ.ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และรศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับงานนี้เป็นการร่วมให้ความเห็นจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และจากภาคเอกชน เพื่อสังเคราะห์โจทย์วิจัยและการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานกฎระเบียบและการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับการวิจัยผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกของไทยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรม มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และตลาดผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกโลกที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในงานยังมีวิทยากรมาให้ความรู้ในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจของประเทศ ดังต่อไปนี้  

นำโดย รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ หัวหน้าศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ ทางวิจัยด้านโพรไบโอติก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ   , รศ.ดร.มัสลิน นาคไพจิตร หัวหน้าศูนย์ Center of Excellence forMicrobiota Innovation มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ International Executive Board Committee, AFSLAB โดยทั้ง 2 ท่านได้มาถ่ายทอดประสบการณ์การวิจัยและการขึ้นทะเบียนโพรไบโอติกสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักวิจัย และเอกชนทุกท่าน

นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญให้เกียรติมาให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิ  ดร.สรียา เรืองพัฒนพงศ์นักวิจัยอาวุโสศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. มาให้ความรู้ในเรื่อง การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารด้วยเทคโนโลยี จุลินทรีย์โพรไบโอติกท้องถิ่นสายพันธุ์ใหม่ ,รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้แนวทางการบริการทดสอบและประเมินความปลอดภัยของจุลินทรีย์โพรไบโอติกแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อขึ้นทะเบียนโพรไบโอติกในประเทศไทย (Probiotic Registration Guideline), ดร.ชาลินี คงสวัสดิ์ ผู้จัดการงานความปลอดภัยทางชีวภาพ ฝ่ายวิจัยนโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ได้มาแชร์เทคนิคและข้อควรระวังในการขึ้นทะเบียนโพรไบโอติกไทย, ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชันและนวัตกรรมอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ได้มาแนะนำโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่จากจุลินทรีย์และชีววิทยาสังเคราะห์เพื่ออุตสาหกรรม และศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต ผู้จัดการสำนักประสานงานวิจัยอาหารมูลค่าสูง บพข. ได้รวบรวมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสังเคราะห์โจทย์วิจัยและแนวทางการสนับสนุนของ บพข เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโรไบโอติกให้มีความเข้มแข็งและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมอาหารไทย

Post Views91 Views
Share this post