บพข.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เป็นความร่วมมือระหว่าง บพข.กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข.และ ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ ประธานคณะอนุกรรมการ บพข. แผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง และ รศ.น.สพ.ดร.อรรถวิทย์ โกวิทวที รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนาม โดยหน่วยงาน บพข. ให้ทุนพัฒนาสถาบันให้บริการทดสอบความน่ากิน (Palatability center) และทดสอบสุขภาพสัตว์เลี้ยง
สำหรับการร่วมมือกันครั้งนี้ บพข.หน่วยบริการและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อการจัดตั้งสถาบันทดสอบเพื่อการวิจัยอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งแรกของประเทศไทย ที่จะเปิดให้บริการแก่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความร่วมมือด้านสถานที่จัดตั้งสถาบันทดสอบ โรงพยาบาลสัตว์ บุคลากรสัตวแพทย์ เพื่อสร้างสถาบันทดสอบความน่ากิน (Palatability center) และทดสอบสุขภาพสัตว์เลี้ยง
รศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ ประธานคณะอนุกรรมการ บพข. แผนงานกลุ่มอาหารมูลค่าสูง กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของโลกที่เป็นผู้ผลิตและมีการส่งออกกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่าสูง ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบ ฐานการผลิต แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบ OEM โดยมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 17,000 ล้านบาท โดย บพข. ตั้งเป้าผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถไปสู้กับตลาดโลกได้เพื่อการก้าวสู่เบอร์ 1 ของโลก โดยตั้งเป้าการเติบโตอยู่ที่ 23,000 ล้านบาท และพร้อมติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทย ในเรื่องของอินฟราสตรัคเจอร์ และอีโคซิสเต็ม เพื่อสร้างสถาบันทดสอบความน่ากิน (Palatability center) และทดสอบสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระดับประเทศ รวมถึงการสนับสนุนงานวิจัย เพื่อสร้างงานวิจัยนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศ
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข. มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่าสูงก็เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทาง บพข. ให้ความสำคัญ ในการยกระดับของผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันได้ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก บพข. นอกจากจะสนับสนุนในเรื่องของงานวิจัยแล้ว ยังมีการให้ทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญเกี่ยวกับงานวิจัยอีกด้วย เรามีทั้งอุตสาหกรรมทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ส่วนมากเป็นการ OEM ส่วนใหญ่ประมาณ 95% ทำให้ประเทศเสียโอกาสอย่างมหาศาล ซึ่งการขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการมีแบรนด์เป็นของตัวเอง สามารถที่จะเพิ่มมูลค่าและนำเงินเข้าประเทศได้ การที่เรามีสร้างสถาบันทดสอบความน่ากิน (Palatability center) และทดสอบสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระดับประเทศ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการมีแบรนด์เป็นของตนเอง และสามารถยกระดับในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากลทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เราได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการทำโครงการนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่าสูง เป็นอุตสาหกรรมที่มีการสร้างการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับผุ้ประกอบการให้มีขีดความสามารถเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้ ในวันนี้มีความคืบหน้าที่เราจะสร้างอีโคซิสเต็ม จะมีการสร้างสถาบันทดสอบความน่ากิน (Palatability center) และทดสอบสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระดับประเทศ บางผลิตภัณฑ์มีการออกแบบมาดีมาก มีสารอาหารครบ แต่บางครั้งสัตว์ไม่รับประทาน เราจะเข้าไปช่วยในการทำงานวิจัย และทำให้โปรดักต์ของผู้ประกอบไทยสามารถสู้กับตลาดต่างประเทศได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย
รศ.น.สพ.ดร.อรรถวิทย์ โกวิทวที รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนนักวิจัยต้องขอบคุณ บพข. ที่ให้ทุนวิจัยในครั้งนี้เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทย โดยตัวโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบไปด้วย 1.การสร้างคองค์ความรู้ โดยจะมีอาจารย์หลาย ๆ คน และนักวิชากรที่เข้ามาร่วมให้ความรู้ที่เป็นระดับแนวหน้าของโลก สถาบันทดสอบความน่ากิน (Palatability center) นอกจากจะเทสผลิตภัณฑ์ภายในประเทศแล้ว เรายังเปิดรับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศอีกด้วย 2.การปฏิบัติการสร้างสถาบันทดสอบความน่ากิน (Palatability center) เพื่อที่จะทดสอบของความน่ากินและด้านอื่น ๆ ด้วย เป็นการยกระดับมาตรฐานการเทสที่ทั่วโลกยอมรับ ทำให้ผู้ประกอบการของประเทศไทยสามารถแข่งขันทั้งประเทศและต่างประเทศได้
โดยภายในงานครั้งนี้ ได้จัดให้มีการร่วมรับฟังการสัมมานาในหัวข้อ “ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงไทย เติบโตสู่ผู้นำด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม”
การเสวนาในหัวข้อ : การสนับสนุนธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของ บพข. การจัดทำนโยบาย ฐานข้อมูลคำนวณโภชนาการอาหารสัตว์เลี้ยง แพลตฟอร์มการขึ้นทะเบียนออนไลน์ร่วมกับกรมปศุสัตว์ โดยวิทยากร รศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต ผู้จัดการสำนักประสาบงานวิจัย อาหารมูลค่าสูง บพข. ประธานหน่วยบูรณาการยุทธศาสตร์ ฯ อุตสาหกรรมอาหารอนาคต สกสว.
การเสวนาในหัวข้อ : ก้าวทันเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ : นวัตกรรมและแนวทางในการพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยวิทยากร น.สพ.ดร.ณัฐพงศ์ อัคริมาจิรโชติ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเสวนาในหัวข้อ : สมดุลโภชนาการและความน่ากินของอาหารสุนัขและแมวโดยวิทยากร สพ.ญ.พรสุชา พละเสวีนันท์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเสวนาในหัวข้อ : ศูนย์วิจัยด้านโภชนาการสัตว์เลี้ยง : องค์ประกอบสำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยวิทยากร รศ.น.สพ.ดร.อรรถวิทย์ โกวิทวที คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเสวนาในหัวข้อ : ศูนย์ให้บริการทดสอบ Palatability เพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง โดยวิทยากร สพ.ญ.อรทัย ชัยเวชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ ยูนิค แลปโบราทอรี่ จำกัด
การเสวนาในหัวข้อ : สาธิตการใช้โปรแกรมการคำนวณโภชนาการอาหารสัตว์เลี้ยงร่วมออกแบบโดย Petfood Consortium โดยวิทยากร ผศ.ดร.จุมพล วรสายัณห์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งนี้ การจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นในงาน อว.แฟร์ 2567 มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ จัดขึ้นโดยกระทรวง อว. ผสานพลังความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆอันจะนําไปสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยเนรมิตพื้นที่ กว่า 23,000 ตารางเมตร ของศูนย์การประชุมแห่งชาติ-สิริกิติ์ ให้เป็นดินแดนแห่งสหวิทยาการ เติมเต็มสาระความรู้ อัปเดตเทคโนโลยีสุดลํ้า ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมเต็มพื้นที่ ด้วยแนวคิดในการจัดนิทรรศการผ่าน “กระบวนการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต หรือ Lifelong Learning” ณ ห้องประชุม MR 210 AB ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
